วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551

กรอบความคิด และขอบเขตของการศึกษา

เมื่อผู้วิัจัยได้เลือกหัวข้อ กำหนดคำถามการวิจัย และอธิบายถึงความสำคัญของปัญหา และประโยชน์หรือคุณค่า (merit) ที่พึงได้จากการทำวิจัยในเรื่องดังกล่าวแล้ว ลำดับต่อไป นักวิจัยจะกำหนดหรือเลือก concepts ที่จะนำมาใช้ในการศึกษา กระบวนการดังกล่าวเรียกว่าการสร้างกรอบความคิดเชิงทฤษฎี (theoretical framework) เมื่อนำไปประกอบกับการทบทวนวรรณกรรมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการหัวข้อวิจัย เพื่อสำรวจหาความรู้ที่มีอยู่แล้วเกี่ยวกับหัวข้อ รวมไปถึงการสร้างมโนทัศน์ (conceptualization) เพื่อให้นิยามคำศัพท์เฉพาะของการวิจัยว่ามีความหมายว่าอย่างไร (ในกรณีที่เป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ นิยมเรียกว่า การกำหนด นิยามเชิงปฏิบัติการ [operational definition])แล้ว นักวิจัยก็จะมี กรอบความคิดในการวิจัย (conceptual framework/research framework)
(กรอบความคิดการวิจัยไม่จำเป็นจะต้องนำเสนอในรูปกราฟฟิค แต่สามารถเขียนบรรยายเป็นร้อยแก้วได้, การนำเสนอในรูปกราฟฟิค บางครั้งทำให้ผู้อ่านสันสนและงุนงงมากกว่าจะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจที่กระจ่างชัด)

เมื่อได้กรอบความคิดแล้ว นักวิจัยก็จะสามารถกำหนดขอบเขตของการวิจัยได้ ขอบเขตของการวิจัยคือการ Limit คำถามการวิัจัยให้ชัดเจนว่า เราจะศึกษากับใคร(ประชากร) ในประเด็นอะไรโดยใช้มโนทัศน์ใด และีจะวิเคราะห์ข้อมูลอย่างไร

เมื่อเราวางเค้าโครงต่างๆ ได้เรียบร้อย ก็เรียกได้ว่า เรามี concept paper ในการวิจัย ขั้นตอนต่อไป ก็คือ การเลือกวิธีการเก็บข้อมูลให้สอดคล้องกับประเด็นปัญหา และคำถามวิจัย รวมไปถึงกระบวนทัศน์ในการสร้างความรู้ กระบวนการดังกล่าวทั้งหมดที่กล่าวมาเรียกว่า การออกแบบการวิัจัย

คำถามสำคัญซึ่งเราควรจะตอบในการออกแบบงานวิจัย (เิชิงคุณภาพ) ได้แก่

หัวข้อ
: เราสนใจปรากฏการณ์(ทางสังคม)เรื่องอะไร? เรื่่องอะไรที่เราต้องการใช้การวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหา?

คำถามวิจัย: ในหัวข้อวิจัยที่เราสนใจนั้นยังไม่มีความรู้ในเรื่องใด ? และเราควรจะต้องมีความรู้ในเรื่องใด?

ความสำคัญ: ทำไมเราจึงต้องทำวิจัยเรื่องนี้? คุณค่าของการวิจัยนี้เป็นอย่างไร? คำตอบจากวิจัยจะเกิดประโยชน์ต่อวงวิชาการ/สังคมอย่างไร?

วัตถุประสงค์: ในการค้นหาคำตอบที่เราสนใจใคร่รู้นั้น เราจะต้องทำอะไรบ้าง?

กรอบความคิด: เราจะใช้ concept อะไรบ้างในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เราจะศึกษา?

การทบทวนวรรณกรรม:
ในหัวข้อวิจัยของเรานั้น คนอื่นๆ เสนอ argument ต่างๆ ไว้อย่างไรบ้าง? น่าเชื่อถือเพียงใด? สังเคราะห์ได้ว่า......?

ขอบเขตของการศึกษา:
เราจะศึกษาในประเด็นใดบ้าง? กับใคร? จะใช้ concept อะไรในการวิเคราะห์ข้อมูล? และใช้อย่างไร?

วิธีการศึกษา: เราจะทำวิจัยอย่างไร? ทำไมเราถึงเลือใช้วิธีการนี้ในการค้นหาคำตอบของเรา? เราใช้เทคนิคการเก็บข้อมูลอะไรบ้าง? ทำไมถึงเลือกเทคนิคเหล่านั้น และไม่เลือกใช้วิธีอื่น

คำถามหนึ่งซึ่งมักจะเกิดขึ้นในระหว่างการออกแบบงานวิจัยเชิงคุณภาพ ก็คือ จำเป็นจะต้องมี สมมติฐาน (hypothesis) หรือไม่? สมมติฐานตามความหมายของ David Silverman(2000:78) หมายถึง ประพจน์/ข้อความที่จะถูกตรวจสอบในงานวิจัย ในการวิจัยเชิงคุณภาพนั้น สมมติฐานไม่จำเป็นต้องมีตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการวิจัย แต่อาจจะถุกสร้างขึ้นในระยะต้นๆ ของการดำเนินการวิจัย ซึ่งการประเมินสมมติฐานนั้นจะให้ความสำคัญที่ความตรง หรือความถูกต้อง (valid or truth) ของสมมติฐาน

อ้างอิง
Siverman, David. 2000. Doing Qualitative Research a practical handbook. Sage.

วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2551

หัวข้อ กับ คำถามวิจัย

ในการเริ่มต้นทำวิจัย ผู้วิจัยจะต้องกำหนดหัวข้อ (topic) ที่เราจะทำการวิจัย และตั้งคำถามการวิจัย (research question) เพื่อเป็นโจทย์ให้ผู้ิวิจัยดำเนินการเพื่อหาคำตอบ

หัวข้อ (topic) คือ เรื่องที่เราต้องการจะทำวิจัย เช่น
- วัฒนธรรมท้องถิ่นกับการพัฒนา
- วิถิชีวิตของคนเมือง
- พิพิธภัณฑ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น

หัวข้อวิจัยมีที่มาได้จากหลายทาง เช่น ความสนใจของผู้วิจัยเอง การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เรามีความสนใจ จากทฤษฎีและแนวคิดที่เกี่ยวในวงวิชานั้นๆ จากข่าว/หรือความสนสนใจของคนในสังคม จากผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น

จากหัวข้อ/ประเด็นกว้างๆ นักวิจัยต้องกำหนดประเด็นให้แคบลง และมีความชัดเจนมากขึ้น เราเรียกกระบวนการดังกล่าวว่า การตั้งคำถามการวิจัย (formulate research question) ด้วยการที่ผู้วิัจัยนำ concept หนึ่ง หรือหลาย concept มาประกอบกันเพื่อกำหนดประเด็นในการศึกษา ตัวอย่างเช่น

ตย. ๑ วัฒนธรรมท้องถิ่นกับการพัฒนา + concept เรื่อง การครอบงำทางวัฒนธรรม
ก็อาจตั้งคำถามวิจัยว่า "กระบวนการพัฒนาตามแนวคิดการทำให้ทันสมัยทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นถูกครอบงำอย่างไร?" หรือ "ลักษณะการครอบงำทางวัฒนธรรมอันเกิดจากปฏิสัมพันธ์ทางการพัฒนาเป็นอย่างไร?"

ตย. ๒ พิพิธภัณฑ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ + concept เรื่องอัตลักษณ์ กับ การสร้างภาพตัวแทน
ก็อาจตั้งคำถามวิจัยว่า "กระบวนการสร้างภาพตัวแทนเพื่อสื่ออัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นอย่างไร?" หรือ "การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์สะท้อนการสร้างภาพตัวแทนของอัตลักษณ์ชาติพันธุ์อย่างไร?"

คำถามวิจัย คือ ข้อความที่เป็นประโยคคำถามซึ่งแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ผู้วิจัยต้องการค้นคว้าหาคำตอบ ทั้งนี้คำถามการวิจัยควรเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ หรือไม่สามารถหาคำตอบได้จากตำรา หรือความรู้เดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว

อนึ่งในการออกแบบการวิจัยเชิงคุณภาพนั้น คำถามการวิจัยมิได้แข็งตัวหรือปรับแก้ไม่ได้ แต่ผู้วิจัยสามารถปรับเปลี่ยนได้ในระหว่างการทำงานภาคสนาม หรือเมื่อได้ข้อค้นพบบางประการจากการวิจัยซึ่งอาจช่วยพัฒนาคำถามวิจัยขึ้นใหม่ได้ (generative question)

สรุป term ต่างๆ ที่สำคัญ

ปัญหาทั่วไป คือ เงื่อนไข หรือสภาวะใดสภาวะหนึ่งซึ่งมีผลไม่พึงประสงค์ หรือเป็นปรากฏการณ์ที่เราต้องการปรับปรุง/เปลี่ยนแปลง

ปัญหาการวิจัย คือ ปัญหาที่เราต้องการใช้การวิจัยเพื่อแก้ไข

หัวข้อ คือ เรื่องหรือประเด็นที่เราต้องการจะทำวิจัย (มักจะอยู่ภายใต้ขอบเขตหรือวงวิชาที่เราสนใจ-กำลังศึกษาอยู่)

คำถามวิจัย ภายใต้หัวเรื่องที่เราสนใจใคร่รู้นั้น มีเรื่องอะไรบ้างที่เรายังไม่มีความรู้ และเราต้องการหาความรู้ในเรื่องนั้นๆ คำถามวิจัยมักจะเขียนในประโยคคำถาม เช่น how who what where แต่ก็อาจจะเขียนในรูปประโยคบอกเล่าได้ ซึ่งมักจะเรียกกันว่าเป็น ประเด็นวิจัย

เมื่อเราได้หัวข้อ และคำถามการวิจัยแล้ว ขั้นตอนไปเป็นการสร้าง concept ในการวิจัยด้วยการสังเคราะห์เอกสารที่เกี่ยวข้อง และกำหนดขอบเขตเชิงทฤษฎี (theoretical framework) เพื่อช่วยให้เราสร้างกรอบความคิดในการวิิจัย (conceptual framework) และกำหนดขอบเขตของการวิจัย (scope of study) ได้ชัดเจนต่อไป