วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2552

การเก็บข้อมูล

การวิจัยคุณภาพมีหลากหลายรูปแบบ นักวิจัยควรจะศึกษารูปแบบต่างๆ ไว้เพื่อพิจารณาว่างานวิจัยรูปแบบใดที่เหมาะสม สอดคล้องกับโจทย์การวิจัยของผู้วิจัย ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างงานคุณภาพประเภทต่างๆ พอเป็นสังเขปดังนี้

งานชาติพันธุ์วรรณา (ethnography) เป็นงานวิจัยที่มุ่งพรรณาถึงวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ใด กลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง LeCompte and Schensul (อ้างใน ชาย โพธิสิตา :148) ให้คำอธิบายว่า ชาติพันธุ์วรรณาเป็นวิธีการศึกษาชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชน สถาบัน รวมถึงกลุ่มหรืองค์กรในรูปแบบอื่นๆ วิธีการนี้มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นการค้นหาข้อเท็จจริง ใช้ตัวนักวิจัยเป็นเครื่องมือหลักในการรวบรวมข้อมูล ใช้วิธีการเก็บข้อมูลที่เคร่งครัดเพื่อหลีกเลี่ยงอคติ และเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของประชาชน ผู้ให้ข้อมูล ใช้วิธีการดำเนินวิจัยแบบอุปนัย สร้างทฤษฎีขึ้นมาจากท้องถิ่นที่ศึกษา เพื่อทำการทดสอบและปรับใช้ภายในท้องถิ่นและกับที่อื่น

งานชาติพันธุมานุษยวิทธีวิทยา (ethnomethodology) หมายถึงงานวิจัยที่ผู้วิจัยมุ่งทำความเข้าใจวิธีการที่คนกลุ่มต่างๆ ให้ความหมายแก่โลก และคนเหล่านั้นมีการให้ชื่อ และเรียกสิ่งต่างๆ ในโลกอย่างไร, คนกลุ่มต่างๆ มีวิถีชีวิตประจำวัน (daily life practice) เป็นอย่างไร และมีแบบแผนของการมีปฏิสัมพันธ์อย่างไร โดยใช้การศึกษาผ่านการวิเคราะห์การพูดคุยสนทนา และศึกษาปฏิสัมพันธ์ของคน

การสร้างทฤษฎีจากข้อมูล (grounded theory) grounded theory เป็นทฤษฎีที่สร้างด้วยการอนุมานเชิงอุปนัยจากข้อมูลหรือข้อค้นพบจากการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคม

ทั้งนี้ในงานวิจัยเชิงคุณภาพประเภทต่างนั้นมีจุดร่วมหนึ่งคือ นักวิจัยเชิงคุณภาพมุ่งทำความเข้าใจในปรากฏการณ์ที่เราสนใจ (phenomenon of interest)ให้มากยิ่งขึ้น การเก็บข้อมูลคุณภาพมักจะกระทำในบริบทที่เป็นสภาพจริงไม่ปรุงแต่ งานวิจัยเชิงคุณภาพจึงมักเรียกว่า การสืบค้นในสภาพธรรมชาติ (naturalistic inquiry) นักวิจัยเชิงคุณภาพจึงอาจเรียกได้ว่าเป็น naturalistic inquirer Denzin ให้คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า..

“Naturalistic investigation is what naturalistic investigator does…what is salient to us is that, first, no manipulation on the part of the inquirer is implied, and, second, the inquirer imposes no priori units on the outcome.”

การศึกษาในสภาพธรรมชาติมีวิธีการเก็บข้อมูลซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายได้แก่ การสัมภาษณ์ และการสังเกต ซึ่งมีสาระโดยสังเขปดังนี้

การสังเกต (participant observation) การสังเกตหมายถึง การจับจ้อง เฝ้ามองปรากฏการณ์ทางสังคมด้วยใจจดจ่อ และมีระเบียบวิธี ในงานวิจัยภาคสนามนิยมใช้วิธีการสังเกตในฐานะผู้มีส่วนร่วม หรือที่เรามักจะเรียกว่าการเข้าไป "ฝังตัว" ในหมู่บ้าน วิธีการดังกล่าวนี้นักวิจัยพยายามจะที่จะทำตัวเสมือนเป็นสมาชิกคนหนึ่งในชุมชนนั้น การสังเกตอย่างมีส่วนร่วมจะทำได้เมื่อชาวบ้านในพื้นที่ศึกษาให้การยอมรับ และนิยามสถานการณ์ว่าผู้วิจัยไม่ใช่ "คนแปลกหน้า" ในชุมชน เมื่อนักวิจัยได้เข้าไปใช้ชีวิตในชุมชนแล้ว นักวิจัยจะพยายามเก็บข้อมูลด้วยปราสาทสัมผัสทั้งหก ไม่ว่าจะเป็น ตา หู จมูก ปาก ใจ กาย ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือ การเฝ้ามองพฤติกรรม และตั้งใจ 'ฟัง' การพูดคุยของชาวบ้านในชีวิตประจำวัน และเรียนรู้ จากสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น กล่าวโดยสรุปการสังเกตในฐานะผู้มีส่วนร่วมคือ การที่ผู้วิจัย เข้าไปใช้ชีวิตในพื้นที่ เฝ้ามอง ฟัง เรียนรู้จากการใช้ชีวิตในสนาม (participant observation = live, look, listen, and learn)

การสัมภาษณ์ หมายถึง การพูดคุยอย่างมีเป้าหมาย ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลตามที่ผู้วิจัยตั้งเป้าหมายไว้ ในการเก็บข้อมูลในสภาพธรรมชาติ 'การพูดคุย' หรือการสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้างจะทำให้ได้ข้อมูลที่มีความหมาย และปรุงแต่งน้อยกว่า รวมทั้งผู้ถูกสัมภาษณ์เอง ก็จะไม่รู้สึกอึดอัด และรู้สึกโล่งใจที่จะได้พูดคุยกับผู้วิจัยในเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตของตนเอง นอกจากวิธีการพูดคุยแล้วบรรยากาศของการพูดคุยก็เป็นสิ่งที่นักวิจัยจะต้องคำนึงถึงด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามแม้การพูดคุยกับชาวบ้านจะทำให้ได้ข้อมูลในสภาพธรรมชาติมากกว่า แต่ในบางกรณีผู้วิจัยก็จะต้องใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก (in-dept interview) กับผู้ให้ข้อมูลหลัก ในเรื่องที่ต้องการเจาะอย่างลึกซึ้ง หรือในบางกรณีที่ผู้ให้ข้อมูลมีภาระมาก การสัมภาษณ์ก็จะช่วยให้เราได้ข้อมูลที่ตรงประเด็น ในเวลาที่ไม่มากจนเกินไป การเลือกใช้การสัมภาษณ์แบบใด จึงขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแต่ละกรณีไป และสิ่งสำคัญที่ผู้วิจัยจะต้องระลึกไว้เสมอ ก็คือ ไม่ว่าข้อมูลที่ผู้วิจัยได้จากการสังเกต หรือการสัมภาษณ์ก็ตาม จะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว

ประเด็นสำคัญที่ผู้วิจัยพึงตระหนักไว้ประการหนึ่งคือ การเก็ยข้อมูลในสภาพธรรมชาตินั้น เป็นเรื่อง 'ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ' ระหว่างนักวิจัยกับผู้ถูกวิจัยดังที่ อ.สุภางค์ จัทรวนิช (2547: 14) ได้เตือนไว้ว่า "นักวิจัยพึงคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกวิจัย ให้ความสำคัญและความเคารพแก่ผู้ถูกวิจัยในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์"

ภายหลังจากที่นักศึกษาได้มีโอกาสฝึกฝนการสังเกต และการวิจัยแล้ว จึงขอเชิญชวนนักศึกษาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเก็บข้อมูลกัน เพราะถ้าเรายึดหลักการวิจัยเชิงคุณภาพว่า researcher-as-instrument แล้ว ประสบการณ์ในการทำงานเก็บข้อมูลก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานให้ดีขึ้นๆ ต่อไป และจะทำให้เราเป็นนักวิจัยเชิงคุณภาพที่มีคุณภาพต่อไป

วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551

กรอบความคิด และขอบเขตของการศึกษา

เมื่อผู้วิัจัยได้เลือกหัวข้อ กำหนดคำถามการวิจัย และอธิบายถึงความสำคัญของปัญหา และประโยชน์หรือคุณค่า (merit) ที่พึงได้จากการทำวิจัยในเรื่องดังกล่าวแล้ว ลำดับต่อไป นักวิจัยจะกำหนดหรือเลือก concepts ที่จะนำมาใช้ในการศึกษา กระบวนการดังกล่าวเรียกว่าการสร้างกรอบความคิดเชิงทฤษฎี (theoretical framework) เมื่อนำไปประกอบกับการทบทวนวรรณกรรมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการหัวข้อวิจัย เพื่อสำรวจหาความรู้ที่มีอยู่แล้วเกี่ยวกับหัวข้อ รวมไปถึงการสร้างมโนทัศน์ (conceptualization) เพื่อให้นิยามคำศัพท์เฉพาะของการวิจัยว่ามีความหมายว่าอย่างไร (ในกรณีที่เป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ นิยมเรียกว่า การกำหนด นิยามเชิงปฏิบัติการ [operational definition])แล้ว นักวิจัยก็จะมี กรอบความคิดในการวิจัย (conceptual framework/research framework)
(กรอบความคิดการวิจัยไม่จำเป็นจะต้องนำเสนอในรูปกราฟฟิค แต่สามารถเขียนบรรยายเป็นร้อยแก้วได้, การนำเสนอในรูปกราฟฟิค บางครั้งทำให้ผู้อ่านสันสนและงุนงงมากกว่าจะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจที่กระจ่างชัด)

เมื่อได้กรอบความคิดแล้ว นักวิจัยก็จะสามารถกำหนดขอบเขตของการวิจัยได้ ขอบเขตของการวิจัยคือการ Limit คำถามการวิัจัยให้ชัดเจนว่า เราจะศึกษากับใคร(ประชากร) ในประเด็นอะไรโดยใช้มโนทัศน์ใด และีจะวิเคราะห์ข้อมูลอย่างไร

เมื่อเราวางเค้าโครงต่างๆ ได้เรียบร้อย ก็เรียกได้ว่า เรามี concept paper ในการวิจัย ขั้นตอนต่อไป ก็คือ การเลือกวิธีการเก็บข้อมูลให้สอดคล้องกับประเด็นปัญหา และคำถามวิจัย รวมไปถึงกระบวนทัศน์ในการสร้างความรู้ กระบวนการดังกล่าวทั้งหมดที่กล่าวมาเรียกว่า การออกแบบการวิัจัย

คำถามสำคัญซึ่งเราควรจะตอบในการออกแบบงานวิจัย (เิชิงคุณภาพ) ได้แก่

หัวข้อ
: เราสนใจปรากฏการณ์(ทางสังคม)เรื่องอะไร? เรื่่องอะไรที่เราต้องการใช้การวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหา?

คำถามวิจัย: ในหัวข้อวิจัยที่เราสนใจนั้นยังไม่มีความรู้ในเรื่องใด ? และเราควรจะต้องมีความรู้ในเรื่องใด?

ความสำคัญ: ทำไมเราจึงต้องทำวิจัยเรื่องนี้? คุณค่าของการวิจัยนี้เป็นอย่างไร? คำตอบจากวิจัยจะเกิดประโยชน์ต่อวงวิชาการ/สังคมอย่างไร?

วัตถุประสงค์: ในการค้นหาคำตอบที่เราสนใจใคร่รู้นั้น เราจะต้องทำอะไรบ้าง?

กรอบความคิด: เราจะใช้ concept อะไรบ้างในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เราจะศึกษา?

การทบทวนวรรณกรรม:
ในหัวข้อวิจัยของเรานั้น คนอื่นๆ เสนอ argument ต่างๆ ไว้อย่างไรบ้าง? น่าเชื่อถือเพียงใด? สังเคราะห์ได้ว่า......?

ขอบเขตของการศึกษา:
เราจะศึกษาในประเด็นใดบ้าง? กับใคร? จะใช้ concept อะไรในการวิเคราะห์ข้อมูล? และใช้อย่างไร?

วิธีการศึกษา: เราจะทำวิจัยอย่างไร? ทำไมเราถึงเลือใช้วิธีการนี้ในการค้นหาคำตอบของเรา? เราใช้เทคนิคการเก็บข้อมูลอะไรบ้าง? ทำไมถึงเลือกเทคนิคเหล่านั้น และไม่เลือกใช้วิธีอื่น

คำถามหนึ่งซึ่งมักจะเกิดขึ้นในระหว่างการออกแบบงานวิจัยเชิงคุณภาพ ก็คือ จำเป็นจะต้องมี สมมติฐาน (hypothesis) หรือไม่? สมมติฐานตามความหมายของ David Silverman(2000:78) หมายถึง ประพจน์/ข้อความที่จะถูกตรวจสอบในงานวิจัย ในการวิจัยเชิงคุณภาพนั้น สมมติฐานไม่จำเป็นต้องมีตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการวิจัย แต่อาจจะถุกสร้างขึ้นในระยะต้นๆ ของการดำเนินการวิจัย ซึ่งการประเมินสมมติฐานนั้นจะให้ความสำคัญที่ความตรง หรือความถูกต้อง (valid or truth) ของสมมติฐาน

อ้างอิง
Siverman, David. 2000. Doing Qualitative Research a practical handbook. Sage.

วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2551

หัวข้อ กับ คำถามวิจัย

ในการเริ่มต้นทำวิจัย ผู้วิจัยจะต้องกำหนดหัวข้อ (topic) ที่เราจะทำการวิจัย และตั้งคำถามการวิจัย (research question) เพื่อเป็นโจทย์ให้ผู้ิวิจัยดำเนินการเพื่อหาคำตอบ

หัวข้อ (topic) คือ เรื่องที่เราต้องการจะทำวิจัย เช่น
- วัฒนธรรมท้องถิ่นกับการพัฒนา
- วิถิชีวิตของคนเมือง
- พิพิธภัณฑ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น

หัวข้อวิจัยมีที่มาได้จากหลายทาง เช่น ความสนใจของผู้วิจัยเอง การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เรามีความสนใจ จากทฤษฎีและแนวคิดที่เกี่ยวในวงวิชานั้นๆ จากข่าว/หรือความสนสนใจของคนในสังคม จากผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น

จากหัวข้อ/ประเด็นกว้างๆ นักวิจัยต้องกำหนดประเด็นให้แคบลง และมีความชัดเจนมากขึ้น เราเรียกกระบวนการดังกล่าวว่า การตั้งคำถามการวิจัย (formulate research question) ด้วยการที่ผู้วิัจัยนำ concept หนึ่ง หรือหลาย concept มาประกอบกันเพื่อกำหนดประเด็นในการศึกษา ตัวอย่างเช่น

ตย. ๑ วัฒนธรรมท้องถิ่นกับการพัฒนา + concept เรื่อง การครอบงำทางวัฒนธรรม
ก็อาจตั้งคำถามวิจัยว่า "กระบวนการพัฒนาตามแนวคิดการทำให้ทันสมัยทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นถูกครอบงำอย่างไร?" หรือ "ลักษณะการครอบงำทางวัฒนธรรมอันเกิดจากปฏิสัมพันธ์ทางการพัฒนาเป็นอย่างไร?"

ตย. ๒ พิพิธภัณฑ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ + concept เรื่องอัตลักษณ์ กับ การสร้างภาพตัวแทน
ก็อาจตั้งคำถามวิจัยว่า "กระบวนการสร้างภาพตัวแทนเพื่อสื่ออัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นอย่างไร?" หรือ "การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์สะท้อนการสร้างภาพตัวแทนของอัตลักษณ์ชาติพันธุ์อย่างไร?"

คำถามวิจัย คือ ข้อความที่เป็นประโยคคำถามซึ่งแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ผู้วิจัยต้องการค้นคว้าหาคำตอบ ทั้งนี้คำถามการวิจัยควรเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ หรือไม่สามารถหาคำตอบได้จากตำรา หรือความรู้เดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว

อนึ่งในการออกแบบการวิจัยเชิงคุณภาพนั้น คำถามการวิจัยมิได้แข็งตัวหรือปรับแก้ไม่ได้ แต่ผู้วิจัยสามารถปรับเปลี่ยนได้ในระหว่างการทำงานภาคสนาม หรือเมื่อได้ข้อค้นพบบางประการจากการวิจัยซึ่งอาจช่วยพัฒนาคำถามวิจัยขึ้นใหม่ได้ (generative question)

สรุป term ต่างๆ ที่สำคัญ

ปัญหาทั่วไป คือ เงื่อนไข หรือสภาวะใดสภาวะหนึ่งซึ่งมีผลไม่พึงประสงค์ หรือเป็นปรากฏการณ์ที่เราต้องการปรับปรุง/เปลี่ยนแปลง

ปัญหาการวิจัย คือ ปัญหาที่เราต้องการใช้การวิจัยเพื่อแก้ไข

หัวข้อ คือ เรื่องหรือประเด็นที่เราต้องการจะทำวิจัย (มักจะอยู่ภายใต้ขอบเขตหรือวงวิชาที่เราสนใจ-กำลังศึกษาอยู่)

คำถามวิจัย ภายใต้หัวเรื่องที่เราสนใจใคร่รู้นั้น มีเรื่องอะไรบ้างที่เรายังไม่มีความรู้ และเราต้องการหาความรู้ในเรื่องนั้นๆ คำถามวิจัยมักจะเขียนในประโยคคำถาม เช่น how who what where แต่ก็อาจจะเขียนในรูปประโยคบอกเล่าได้ ซึ่งมักจะเรียกกันว่าเป็น ประเด็นวิจัย

เมื่อเราได้หัวข้อ และคำถามการวิจัยแล้ว ขั้นตอนไปเป็นการสร้าง concept ในการวิจัยด้วยการสังเคราะห์เอกสารที่เกี่ยวข้อง และกำหนดขอบเขตเชิงทฤษฎี (theoretical framework) เพื่อช่วยให้เราสร้างกรอบความคิดในการวิิจัย (conceptual framework) และกำหนดขอบเขตของการวิจัย (scope of study) ได้ชัดเจนต่อไป