วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2552

การเก็บข้อมูล

การวิจัยคุณภาพมีหลากหลายรูปแบบ นักวิจัยควรจะศึกษารูปแบบต่างๆ ไว้เพื่อพิจารณาว่างานวิจัยรูปแบบใดที่เหมาะสม สอดคล้องกับโจทย์การวิจัยของผู้วิจัย ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างงานคุณภาพประเภทต่างๆ พอเป็นสังเขปดังนี้

งานชาติพันธุ์วรรณา (ethnography) เป็นงานวิจัยที่มุ่งพรรณาถึงวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ใด กลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง LeCompte and Schensul (อ้างใน ชาย โพธิสิตา :148) ให้คำอธิบายว่า ชาติพันธุ์วรรณาเป็นวิธีการศึกษาชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชน สถาบัน รวมถึงกลุ่มหรืองค์กรในรูปแบบอื่นๆ วิธีการนี้มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นการค้นหาข้อเท็จจริง ใช้ตัวนักวิจัยเป็นเครื่องมือหลักในการรวบรวมข้อมูล ใช้วิธีการเก็บข้อมูลที่เคร่งครัดเพื่อหลีกเลี่ยงอคติ และเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของประชาชน ผู้ให้ข้อมูล ใช้วิธีการดำเนินวิจัยแบบอุปนัย สร้างทฤษฎีขึ้นมาจากท้องถิ่นที่ศึกษา เพื่อทำการทดสอบและปรับใช้ภายในท้องถิ่นและกับที่อื่น

งานชาติพันธุมานุษยวิทธีวิทยา (ethnomethodology) หมายถึงงานวิจัยที่ผู้วิจัยมุ่งทำความเข้าใจวิธีการที่คนกลุ่มต่างๆ ให้ความหมายแก่โลก และคนเหล่านั้นมีการให้ชื่อ และเรียกสิ่งต่างๆ ในโลกอย่างไร, คนกลุ่มต่างๆ มีวิถีชีวิตประจำวัน (daily life practice) เป็นอย่างไร และมีแบบแผนของการมีปฏิสัมพันธ์อย่างไร โดยใช้การศึกษาผ่านการวิเคราะห์การพูดคุยสนทนา และศึกษาปฏิสัมพันธ์ของคน

การสร้างทฤษฎีจากข้อมูล (grounded theory) grounded theory เป็นทฤษฎีที่สร้างด้วยการอนุมานเชิงอุปนัยจากข้อมูลหรือข้อค้นพบจากการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคม

ทั้งนี้ในงานวิจัยเชิงคุณภาพประเภทต่างนั้นมีจุดร่วมหนึ่งคือ นักวิจัยเชิงคุณภาพมุ่งทำความเข้าใจในปรากฏการณ์ที่เราสนใจ (phenomenon of interest)ให้มากยิ่งขึ้น การเก็บข้อมูลคุณภาพมักจะกระทำในบริบทที่เป็นสภาพจริงไม่ปรุงแต่ งานวิจัยเชิงคุณภาพจึงมักเรียกว่า การสืบค้นในสภาพธรรมชาติ (naturalistic inquiry) นักวิจัยเชิงคุณภาพจึงอาจเรียกได้ว่าเป็น naturalistic inquirer Denzin ให้คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า..

“Naturalistic investigation is what naturalistic investigator does…what is salient to us is that, first, no manipulation on the part of the inquirer is implied, and, second, the inquirer imposes no priori units on the outcome.”

การศึกษาในสภาพธรรมชาติมีวิธีการเก็บข้อมูลซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายได้แก่ การสัมภาษณ์ และการสังเกต ซึ่งมีสาระโดยสังเขปดังนี้

การสังเกต (participant observation) การสังเกตหมายถึง การจับจ้อง เฝ้ามองปรากฏการณ์ทางสังคมด้วยใจจดจ่อ และมีระเบียบวิธี ในงานวิจัยภาคสนามนิยมใช้วิธีการสังเกตในฐานะผู้มีส่วนร่วม หรือที่เรามักจะเรียกว่าการเข้าไป "ฝังตัว" ในหมู่บ้าน วิธีการดังกล่าวนี้นักวิจัยพยายามจะที่จะทำตัวเสมือนเป็นสมาชิกคนหนึ่งในชุมชนนั้น การสังเกตอย่างมีส่วนร่วมจะทำได้เมื่อชาวบ้านในพื้นที่ศึกษาให้การยอมรับ และนิยามสถานการณ์ว่าผู้วิจัยไม่ใช่ "คนแปลกหน้า" ในชุมชน เมื่อนักวิจัยได้เข้าไปใช้ชีวิตในชุมชนแล้ว นักวิจัยจะพยายามเก็บข้อมูลด้วยปราสาทสัมผัสทั้งหก ไม่ว่าจะเป็น ตา หู จมูก ปาก ใจ กาย ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือ การเฝ้ามองพฤติกรรม และตั้งใจ 'ฟัง' การพูดคุยของชาวบ้านในชีวิตประจำวัน และเรียนรู้ จากสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น กล่าวโดยสรุปการสังเกตในฐานะผู้มีส่วนร่วมคือ การที่ผู้วิจัย เข้าไปใช้ชีวิตในพื้นที่ เฝ้ามอง ฟัง เรียนรู้จากการใช้ชีวิตในสนาม (participant observation = live, look, listen, and learn)

การสัมภาษณ์ หมายถึง การพูดคุยอย่างมีเป้าหมาย ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลตามที่ผู้วิจัยตั้งเป้าหมายไว้ ในการเก็บข้อมูลในสภาพธรรมชาติ 'การพูดคุย' หรือการสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้างจะทำให้ได้ข้อมูลที่มีความหมาย และปรุงแต่งน้อยกว่า รวมทั้งผู้ถูกสัมภาษณ์เอง ก็จะไม่รู้สึกอึดอัด และรู้สึกโล่งใจที่จะได้พูดคุยกับผู้วิจัยในเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตของตนเอง นอกจากวิธีการพูดคุยแล้วบรรยากาศของการพูดคุยก็เป็นสิ่งที่นักวิจัยจะต้องคำนึงถึงด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามแม้การพูดคุยกับชาวบ้านจะทำให้ได้ข้อมูลในสภาพธรรมชาติมากกว่า แต่ในบางกรณีผู้วิจัยก็จะต้องใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก (in-dept interview) กับผู้ให้ข้อมูลหลัก ในเรื่องที่ต้องการเจาะอย่างลึกซึ้ง หรือในบางกรณีที่ผู้ให้ข้อมูลมีภาระมาก การสัมภาษณ์ก็จะช่วยให้เราได้ข้อมูลที่ตรงประเด็น ในเวลาที่ไม่มากจนเกินไป การเลือกใช้การสัมภาษณ์แบบใด จึงขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแต่ละกรณีไป และสิ่งสำคัญที่ผู้วิจัยจะต้องระลึกไว้เสมอ ก็คือ ไม่ว่าข้อมูลที่ผู้วิจัยได้จากการสังเกต หรือการสัมภาษณ์ก็ตาม จะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว

ประเด็นสำคัญที่ผู้วิจัยพึงตระหนักไว้ประการหนึ่งคือ การเก็ยข้อมูลในสภาพธรรมชาตินั้น เป็นเรื่อง 'ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ' ระหว่างนักวิจัยกับผู้ถูกวิจัยดังที่ อ.สุภางค์ จัทรวนิช (2547: 14) ได้เตือนไว้ว่า "นักวิจัยพึงคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกวิจัย ให้ความสำคัญและความเคารพแก่ผู้ถูกวิจัยในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์"

ภายหลังจากที่นักศึกษาได้มีโอกาสฝึกฝนการสังเกต และการวิจัยแล้ว จึงขอเชิญชวนนักศึกษาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเก็บข้อมูลกัน เพราะถ้าเรายึดหลักการวิจัยเชิงคุณภาพว่า researcher-as-instrument แล้ว ประสบการณ์ในการทำงานเก็บข้อมูลก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานให้ดีขึ้นๆ ต่อไป และจะทำให้เราเป็นนักวิจัยเชิงคุณภาพที่มีคุณภาพต่อไป

3 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณครับพี่แท่ง ^^

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณคับ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ11/03/2553

    ขอบคุณค่ะ อาจารย์

    ...yok

    ตอบลบ